โดยปกติแล้ว การซื้อ หรือ ขาย Cryptocurrency ในหน่วยเงินบาท ที่ถูกต้องตาม พรบ ทรัพย์สินดิจิทัล นั้น เราต้องทำผ่าน Digital Asset Exchange ที่ กลต ได้ให้ใบอนุญาตเอาไว้เท่านั้น มีรายนามดังนี้ https://www.sec.or.th/digitalasset#EBD
ซึ่งบทความนี้ ผมจะไม่พูดถึง exchange ต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลก แต่ไม่มีการซื้อหรือขายด้วยเงินบาท นะครับ นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราจะถกกันวันนี้ แต่จะพูดกันถึง P2P คือการซื้อขายกันโดยตรง ผ่านทาง platform บางอย่างที่เค้าเตรียมไว้ให้ ในลักษณะโอนเงิน โอนเหรียญกันเอง หรืออีกแบบคือ OTC (Over The Counter) คือการเจอหน้ายื่นหมูยื่นแมวกันเลย
ทีนี้มีคำถามบ่อยมากว่ากรณีที่เรามีเงินบาทอยู่แล้วจะซื้อ Cryptocurrency อย่างไรที่ได้เรทดีที่สุดหรือในคำถามกลับกันก็คือมี Cryptocurrency อยู่ในมือแล้วจะเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างไรที่จะได้เรทดีที่สุด หรือว่าบางคนก็มี Cryptocurrency อยู่ในมือแล้วจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างไรบ้างที่ให้รอดจากสายตาของสรรพากร
ต้องบอกว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดในย่อหน้าข้างบนนั้นถ้าไม่ทำผ่านศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิตอล นั่นคือเรากำลังทำผิดกฎหมายประเทศไทยอยู่ในทันที และเราก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาจากการกระทำผิดกฎหมายนั้นด้วย มีอะไรบ้างผมจะชี้แจงเป็นข้อๆดังนี้
เข้าข่ายหลบเลี่ยงภาษีเงินได้
เพราะว่า Cryptocurrency นั้นถือว่าเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบของ Digital ถ้าเราเปรียบให้มันเข้าใจง่ายๆมันก็ไม่ได้แตกต่างกับการที่เราซื้อหรือขาย โต๊ะ ตู้ เตียง สินค้าหรืออุปกรณ์ต่างๆ แต่มันจับต้องไม่ได้เท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าเราขาย เราก็จะต้องนำเงินรายได้ที่เกิดจากการขายนั้นยื่นภาษีรายได้ของเราด้วย หลายคนทำรายได้จาก Cryptocurrency เป็นจำนวนมากและขายออกมาเป็นเงินบาท ถ้าจำนวนมูลค่าที่ขายต่อปีนั้นเกิน 1.8 ล้านบาทเราก็จะต้องยื่นจด VATให้ถูกต้องด้วย หลายคนจึงพยายามหาช่องทางหลบเลี่ยงที่จะขายโดยไม่ถูกบันทึกไว้ในหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือสรรพากร นั่นก็หมายความว่าพยายามหลบเลี่ยงภาษีเงินได้อยู่นั่นเอง
ติดคุกโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งจ่ายค่าปรับอีก 5 แสน
อ้างอิงจาก มาตรา 57 ของ พรบ สินทรัพย์ดิจิทัล ได้เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งหรือวรรคสองหรือเสนอขายโดยไม่กระทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับเป็นเงินสดไม่เกิน 2 เท่าของราคาของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น คนที่ทำ P2P , OTC โดนเต็มๆ เพราะ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดของประเทศไทย ไม่มี P2P , OTC แน่นอน
เอาขาข้างหนึ่งยื่นเข้าคุกโดยที่ไม่ทันรู้ตัว
ผมแยกเป็น 2 กรณีเลยแล้วกัน กรณีแรกเราเป็นลูกค้าที่เอาเงินบาทไปซื้อ Cryptocurrency ผ่านทาง P2P หรือในลักษณะที่เรามี Cryptocurrency แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทกับพ่อค้าที่ตั้งโต๊ะรับซื้ออยู่ในราคาต่างๆ
กรณีนี้เราจะไม่รู้เลยว่าพ่อค้าที่เขามาเปิดร้านขาย Cryptocurrency ให้เรานั้นเขาเป็นหนึ่งในกระบวนการฟอกเงินอยู่หรือเปล่า เพราะว่า Cryptocurrency ที่เขาได้มาแล้วเอามาขายให้เรานั้นอาจจะได้มาด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือค้าขายยาเสพติด แล้วเขาก็ต้องการมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท ซึ่งถ้าวันหนึ่งที่สืบสาวมาได้ว่าเส้นทางการเงินของเขานั้นมีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างแน่นอนจะมีชื่อเราเป็นหนึ่งในนั้นที่ช่วยในการฟอกเงินอยู่นั่นเอง ซึ่งถ้าถึงวันนั้นทางตำรวจก็คงจะเชิญเราไปสอบก่อนในเบื้องต้น ผิดถูกก็ยังคงไม่รู้หรอกแต่ที่แน่ๆมีบัญชีเราโอนไปหาบัญชีเขาก็ต้องเรียกมาสอบว่าเพื่อการใด แล้วรู้เรื่องที่เขากระทำความผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดมั้ย ถ้าเรารู้เราก็คงไม่ทำ ดังนั้นนั่นแหละคือความเสี่ยง หรือกรณีที่เราเอา cryptocurrency ไปขายให้เค้า ก็ไม่ต่างกัน เรารู้ได้อย่างไรว่าเค้าได้เงินสดมาจากช่องทางไหนบ้าง เค้าอาจจะกำลังแปลงเงินบาท ร้อนๆ ให้เป็น cryptocurrency เพื่อเอาไปฟอกในวิธีการต่างๆอยู่ก็เป็นได้
กรณีที่ 2 กรณีที่เราเป็นพ่อค้า เพื่อตั้งโต๊ะรับแลกจากลูกค้าอีกทีนึง กรณีนี้ได้ยินบ่อยมากๆว่าถูกอายัดบัญชีเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการฉ้อโกง
เคสยอดนิยมก็คือ A B C เคสนี้ลักษณะว่า เราเป็นพ่อค้าหรือ C ก็ตั้งโต๊ะขาย Cryptocurrency ตามปกติ จากนั้น B มาติดต่อขอซื้อ Cryptocurrency จากเรา ตกลงเรียบร้อย ก็ได้รับโอนเงินถูกต้อง เราก็โอน Cryptocurrency ไปให้ B แต่ว่าเงินที่โอนมาจาก A ซึ่งก็ดูไม่มีปัญหาอะไร เพราะยอดเงิน ถูกต้องทั้งหมด สุดท้าย A ไปแจ้งความว่า C คือเราร่วมฉ้อโกง ในการขายสินค้า แล้วไม่จัดส่งหลังจากการชำระเงิน แน่นอนตำรวจก็อายัดบัญชีเอาไว้ก่อนแล้วเรียกมาสอบว่าเกิดอะไรขึ้น สรุปใจความได้ว่า B ไปหลอกขายสินค้าให้ A จากนั้น ให้ A โอนไปให้ C แล้ว B ก็ไปคุยกับ C ว่าจะซื้อ Cryptocurrency สุดท้าย A โอนเงินให้ C แล้ว C โอน Cryptocurrency ให้ B แล้ว B ก็หายไป กรณีแบบนี้ก็ต้องฟ้องร้องเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องกันต่อไป แน่นอนว่าเสียทั้งเวลาและเงิน ไหนจะอารมณ์ ที่ต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาลอีก
เสี่ยงต่ออาชญากรรมซะเอง
มีข่าวดังข่าวหนึ่งในประเทศไหนจำไม่ได้แล้ว มีวัยรุ่นต้องการขาย bitcoin โดยไม่ผ่านศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์จึงได้ทำการประกาศขายทางอินเทอร์เน็ตจากนั้นมีผู้รับซื้อและก็นัดรับเงินโอน bitcoin กันต่อหน้า แต่พอไปถึงกลับไปเจอแก๊งวัยรุ่นดักรอปล้น bitcoin ไปทั้งหมดโดยใช้การบังคับและทำร้ายร่างกาย สรุปสุดท้ายแทนที่จะขายได้ราคาดีหรือขายโดยการหลบเลี่ยงภาษีกับเจ็บตัวและต้องเสียทรัพย์สินไปแทน
คุ้มจริงหรือครับ
ผมเห็นหลายคนชอบมาถามหาวิธีการแลกระหว่างเงินบาทกับ Cryptocurrency ทั้งขาไปและขากลับในแบบที่ถูกๆและหลายคนก็แนะนำ P2P , OTC ซึ่งผมได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงแล้ว
ลองคิดดูนะครับ การซื้อ Cryptocurrency แล้วแปลงเป็น USDT โอนไป exchange ที่อื่น ตอนนี้มีค่าธรรมเนียมที่แพงที่สุด ประมาณ $20 หรือ 640 บาท ต่อครั้ง ไม่อิงตามยอดเงิน เหมือนอย่างที่เคยทำให้ดูแล้ว ถ้าโอนผ่าน coin อื่น ก็จะถูกกว่านี้อีก เอาเป็นตีว่าครั้งละ 640 บาท เดือนหนึ่ง ทำ 2 ครั้ง ก็ 1280 บาทเท่านั้น แต่นี่คือสิ่งที่ถูกกฏหมาย ไม่ต้องระแวงเลย ว่าจะ jackpot แตกที่เราหรือเปล่า ซึ่งถ้าใครที่ฟาร์มด้วยเงินเยอะหน่อย จะรู้เลยว่า 1280 บาท หาได้ไม่ยากเลย อย่าง port ในเว็บที่เราแสดงให้เห็น ณ วันที่ เขียนบทความอยู่ ก็สามารถสร้างกำไรได้ วันละ $80 จากต้นทุน 500k THB นี่คือวันเดียว ก็ได้เกินค่าโอนไปเยอะแล้ว ที่เหลือก็กำไรล้วนๆ ถ้าจ่ายก้อนนี้แล้ว เราทำถูกกฏหมาย กินอิ่ม นอนอุ่น มันจะดีกว่ามาก เสียเวลาไปโรงพักสักรอบก็ไม่คุ้มอย่างแรงแล้วครับ บางเคสรอบเดียวไม่จบอีกต่างหาก
หรือหากว่ากลัวยอดที่เราขายจนเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี อันนี้ให้อ่านเรื่องนี้ครับ ภาษีกำไร Cryptocurrency DeFi ทรัพย์สินดิจิทัล Digital Asset จะได้ทำตัวได้ถูกต้อง
เห็นมั้ยครับว่า บัญชีรายรับรายจ่ายนั้น มีความสำคัญมากๆเลยทีเดียว
แล้วคิดว่าอ่านมาถึงบรรทัดนี้ น่าจะคิดได้แล้วนะครับ ว่าการเอาเงินเข้าหรือออกจากโลก Crypto อย่างไร ถึงจะดีที่สุด และน่าจะเข้าใจแล้วนะครับ ว่าทำไมผมไม่เคยแนะนำให้ผ่าน P2P , OTC เลยแม้แต่ครั้งเดียว