ภาษีกำไร Cryptocurrency DeFi ทรัพย์สินดิจิทัล Digital Asset

ปีนี้ตลาดทรัพย์สินดิจิตอลหรือ Cryptocurrency คึกคักมาก ซึ่งทำกำไรให้หลายคนเลยทีเดียว และเรื่องที่ตามมาซึ่งสำคัญไม่แพ้กันเลยนั่นก็คือ การที่เราจะต้องนำกำไรไปจ่ายภาษีเงินได้อย่างถูกต้องนั่นเอง 

สรุปสั้นๆ สำหรับเรื่องภาษี (บุคคลธรรมดา)

  • เงินได้แบ่งเป็น มาตรา๔๐  (๔)  (ซ) คือ รายได้จากการถือครอง ซึ่งน่าจะมาจาก กิจกรรมดังนี้  Airdrop ที่เราต้องถือ token เพื่อให้ได้รับ airdrop, Binance earn, zipmex ZipUp, การฟาร์ม (stake) เพื่อได้ governance token แล้วเอาไปขาย, trading fee (Trading fee อีกหนึ่งรายได้จากการเป็น Liquidity Provider), การ deposit เพื่อเป็น Collateral แล้วเค้าจ่ายดอก, Funding Fee ใน future market, การปล่อยกู้ (lender), การเป็น Liquidity Provider, การเป็น validator node ของ POS, การเข้าร่วม Pool, เหรียญที่เพิ่มขึ้นมาของเหรียญกาวๆทั้งหลาย จากการถือก่อน (จำนวน Token ส่วนที่เพิ่ม นับเป็น ซ แต่ถ้าขาย จะเกิดส่วนต่าง ไปเข้า ฌ)
  • เงินได้แบ่งเป็น มาตรา๔๐  (๔)  (ฌ) เงินได้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ซึ่งน่าจะมาจาก กิจกรรมดังนี้ การซื้อขาย เก็งกำไร, Future Market, การทำ arbitrage, bot trade, การขุด 
  • เงินได้จาก มาตรา๔๐ (๔) (ฌ) และ มาตรา๔๐ (๔) (ซ) (สองข้อบน) เสียภาษีในอัตรา 15% แต่ผมลองคำนวณจาก application iTax พบว่า กำไรส่วนนี้ เอาไปคิดเป็นเงินได้พึงประเมินก่อนเข้าไปคิดภาษี ซึ่งก็คือเสียภาษีตามอัตราของแต่ละคนนั่นแหล่ะ อาจจะไม่เสียจนเสียแพงกว่า 15%ได้ ขึ้นอยู่กับคุณอยู่ฐานภาษีไหน
  • บุคคลธรรมดา trade cryptocurrency หรือ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน เกิน 1.8 ล้านบาท ทั้งกำไร และ รายรับ ไม่เข้าข่ายบังคับจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ที่เรารู้จักกันว่า VAT นั่นล่ะครับ)

ฉบับเต็ม พร้อมที่มาที่ไป อ่านต่อได้เลย

พระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร  (ฉบับที่๑๙) พ.ศ.  ๒๕๖๑

นี่คือพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษีโดยตรง ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑

เนื้อหาที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือการกำหนดประเภทของเงินได้ขึ้นมาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม ดังนี้ 

มาตรา ๓

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น  (ซ)  และ  (ฌ)  ของ  (๔)  ในมาตรา๔๐แห่งประมวลรัษฎากร

(ซ)  เงินส่วนแบ่งของกําไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล

(ฌ)  ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน” 

มาตรา ๔

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น  

(ฉ)  ของ  (๒)  ในมาตรา๕๐แห่งประมวลรัษฎากร“

(ฉ)  ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา๔๐  (๔)  (ซ)  และ  (ฌ)  ให้คํานวณหักในอัตราร้อยละ๑๕.๐ของเงินได้”

ทีนี้เราจะเห็นว่า มีการอ้างถึง มาตรา 40 และ มาตรา 50 ซึ่งจะอธิบายได้ดังนี้

มาตรา๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร คืออะไร?

มาตรานี้ได้กล่าวถึงประเภทของเงินได้ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายประเภทตามที่เรายื่นแบบนั่นแหล่ะ ขอย่อสั้นๆ เพื่อความเข้าใจ แต่ถ้าตัวเต็มให้อ่านที่นี่ https://www.rd.go.th/5937.html#mata40 และยกบางตัวมาตรงนี้ เพื่อให้นึกภาพออก

(1) เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน << เงินเดือน เราเอามาหยอดช่องนี้

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน << รับจ้างไม่ประจำ

(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม

(4) เงินได้ที่เป็น << อันนี้ แหล่ะ ไฮไลท์เลย พระราชกำหนดด้านบน เพิ่มหมวดเงินได้ในส่วนนี้ 

(4)(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม << ดอกเบี้ยทั้งหลาย แต่ยังไม่เกี่ยวกับเรา (พวกดอกเบี้ยเงินฝาก)

(4)(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน << เงินปันผลจากหุ้นบริษัททั้งหลาย ก็ยังไม่เกี่ยวกับเรา อันนี้คือหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ยกมาให้เข้าใจ ว่ามีเงินได้ประเภทต่างๆอยู่หลายแบบ

(4) (ค) (ง) (จ) (ฉ) (ช) ผมขอข้ามเลยนะ ลองหาอ่านกันเอาเอง กระชับเนื้อหา

(4) (ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล << อันนี้คือกำไรที่ได้จากการถือ เช่น การฟาร์ม, stake, binance earn หรืออะไรที่ไม่เกิดการแลกเปลี่ยน แต่ได้กำไร หรือ ปันผลออกมา

(4) (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน << อันนี้คือกำไรที่ได้จากการซื้อหรือขาย ซึ่งต้องมีการโอน หรือเปลี่ยนมือไปหรือเข้ามาที่เรา โดยคิดกำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น

ในมาตรา๕๐ แห่งประมวลรัษฎากร คืออะไร?

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆในมาตรานี้ระบุถึงหน้าที่ของบริษัทหรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เอาไว้ พูดให้เข้าใจก็คือ เว็บ exchange ต่างๆที่เราไปซื้อขายนั่นแหล่ะครับ คือผู้ที่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเอง

โดยในพระราชกำหนดด้านบนได้กำหนดให้ เว็บ exchange ต่างๆ จะต้อง หัก ณ ที่จ่าย 15% ของเงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ครับ

นั่นคือพระราชกำหนด ที่กำหนดให้ต้องทำ แต่ว่าในความเป็นจริงกลับไม่สามารถทำได้เนื่องมาจาก เว็บ exchange ต่างๆ ไม่สามารถ declare ต้นทุนได้จริง ทำให้ไม่รู้ว่ายอดที่ถูกต้องของ  (ซ) และ (ฌ) เป็นเท่าไรกันแน่ เนื่องจาก web exchange ไม่ได้ควบคุมเบ็ดเสร็จในที่เดียว

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเลย เอาเงิน 3000 บาท ซื้อ USDT ด้วยเรท 30 THB/USDT นั่นเราจะได้ 100 USDT จากนั้น โอนออกไปฟาร์มที่ pancake ได้กำไรมาทั้งสิ้น 20 USDT รวมขายคืน 120 USDT ด้วยเรท 30 THB/USDT แต่คำถามคือ เว็บ exchange จะรู้ได้อย่างไรว่า 20 USDT ที่เพิ่มมา คือเงินกำไร ไม่ใช่เงินของคนอื่นที่โอนมาให้ผม? ถ้าเปลี่ยนความจริงเป็นพี่ชายโอนมาให้ผม แล้วเว็บ exchange ก็หัก 15% จาก 20 USDT ที่เกินมา แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะ 20 USDT ไม่ใช่เงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) แต่อย่างใด

นี่จึงเป็นเรื่องยากมากในการปฏิบัติงานจริง ที่จะทำให้รู้ได้อย่างไรว่า Token หรือ Cryptocurrency ส่วนไหนนั้น นับเป็นเงินได้ประเภทอะไร

คนเดียวเท่านั้นที่รู้ก็คือเจ้าของ Cryptocurrency นั่นเอง

สุดท้ายแล้ว เว็บ Exchange จึงออกประกาศว่าไม่สามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ เนื่องจากไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ ตัวอย่างประกาศ https://support.bitkub.com/hc/th/articles/360037848551-%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5-%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94-%E0%B8%97%E0%B8%B5-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2-%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5

ภาระทางภาษีจึงตกมาที่เราเต็มๆตอนยื่นแบบเงินได้

การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยลดภาระการจ่ายภาษีตอนปลายปี และเพิ่มความสะดวก ของคนที่มีรายได้เหล่านั้น พูดภาษาคนให้เข้าใจง่ายๆก็คือ การหัก ณ ที่จ่าย เป็นการช่วยจ่ายภาษีไปตั้งแต่ตอนที่เราได้รับเงินนั้นเลย  พอปลายปีเราเอาเงินได้จำนวนนี้ ไปยื่นเป็นรายรับ เพื่อคำนวณภาษี สุดท้ายเราก็จะเอาภาษีที่เราเคยจ่ายไปตอนที่รับเงิน (ที่เรียกว่าหัก ณ ที่จ่าย) มาเป็นส่วนลดยอดภาษีที่เราต้องจ่ายได้อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นภาษีจะไม่ได้เสีย 2 รอบ ก็คือถ้าเคยเสียแล้วก็เอามาลดได้ตอนปลายปี แต่ถ้าไม่เคยโดนหัก ณ ที่จ่ายเลย (เหมือนอย่าง case ที่คุยกันตอนนี้ว่าหักไม่ได้) ตอนปลายปีก็จะหนักหน่อย

ดังนั้น กำไรทั้งหมดที่ได้ จะต้องยื่นเป็นรายได้ ตอนยื่นภาษีด้วย

กิจกรรมแบบไหน จัดว่าเป็นเงินได้แบบใด

ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีเงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency DeFi ทรัพย์สินดิจิทัล Digital Asset แต่ว่าเราจะแยกกิจกรรมแบบไหนเข้าเป็นเงินได้ประเภทไหนล่ะ ตามความเห็นของผม ผมจะแยกดังนี้ 

เงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ซ)

Airdrop ที่เราต้องถือ token เพื่อให้ได้รับ airdrop, Binance earn, zipmex ZipUp, การฟาร์ม (stake) เพื่อได้ governance token แล้วเอาไปขาย, trading fee (Trading fee อีกหนึ่งรายได้จากการเป็น Liquidity Provider), การ deposit เพื่อเป็น Collateral แล้วเค้าจ่ายดอก, Funding Fee ใน future market, การปล่อยกู้ (lender), การเป็น Liquidity Provider, การเป็น validator node ของ POS, การเข้าร่วม Pool, เหรียญที่เพิ่มขึ้นมาของเหรียญกาวๆทั้งหลาย จากการถือก่อน (ส่วนที่เพิ่ม นับเป็น ซ แต่ถ้าขาย จะเกิดส่วนต่าง ไปเข้า ฌ)

แต่ Airdrop ที่ต้องไปกรอกฟอร์ม แล้วได้มาฟรี หรือว่า ไป swap (หรือใช้บริการบางอย่างของเค้า) แล้วได้ airdrop มาฟรีภายหลัง โดยไม่ได้ถือ token อะไรที่เกี่ยวข้องเลย ผมคิดว่า ไม่เข้าเงื่อนไขข้อนี้ แต่ไปเข้า ตามมาตรา 40 (8) ( พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก) มากกว่า 

เงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) 

การซื้อขาย เก็งกำไร, Future Market, การทำ arbitrage, bot trade, การขุด

ข้อนี้จะคิดง่ายหน่อย ขาย ลบ ซื้อ ส่วนต่าง ก็คือรายได้ประเภทนี้เลย

คิดว่าน่าจะครบแล้วนะ สำหรับ activity ต่างๆ ถ้าไม่ครบ ก็ลองถามเข้ามาได้ ว่า กิจกรรมแบบไหน น่าจะเข้าข่ายประเภทใด จะได้ถกเถียงกัน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการลงเงินได้ครับ

ส่วนที่เหลือหลังจากนี้ ก็คือ บัญชีที่เราจดนั่นเอง ที่จะเป็นตัวบอกว่า เราได้กำไรมากน้อยเท่าไร ตามที่เรายื่นรายได้ไปในทั้งสองประเภท

แล้วเรื่อง VAT เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ในปีภาษีล่ะ?

VAT หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษี ที่เรียกเก็บเพิ่มเติม จากกิจกรรมต่างๆ ที่เข้าข่าย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับภาษีเงินได้ 

กรณีนี้ ต้องคิดยังไง

ผมพยายามหาข้อมูลแล้ว แต่ไม่มีประกาศที่ชัดเจน อย่างเป็นทางการเลย อีกทั้ง พยายามปรึกษากับหลายคน แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ เลยลองศึกษาต่อ กรณีโดยปกติ จะเป็นการเข้าข่าย การซื้อ และ ขาย สินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น เราจึงไปดูในคำนิยามของสินค้าที่่เข้าข่ายต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีเขียนไว้ชัดเจนดังนี้ 

มาตรา 77/1 

“(9) “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด”

ซึ่งได้มีประกาศใน พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร  (ฉบับที่  ๕๓)พ.ศ.  ๒๕๖๔

ความน่าสนใจก็คือ “แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด”

ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์สินดิจิทัล ไม่เข้าข่ายเป็นสินค้า ที่เราซื้อมาขายไป แล้วต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง (สำหรับบุคคลธรรมดา เพราะดูเหมือนสำหรับนิติบุคคลจะต่างออกไป แต่เราเป็นบุคคลธรรมดานี่แหล่ะ)

ผมพยายามอ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่หลายรอบ หลายทาง แต่ก็พบว่า น่าจะตีความได้แบบนี้จริงๆ เพราะทีแรก คิดว่า ไปเข้าข่าย บริการอิเล็กทรอนิกส์ มั้ย ก็ไม่อีก 

“(๑๐/๑)  “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์”  หมายความว่า  บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง  ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด  ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระท าได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

และสุดท้าย เพื่อความถูกต้อง ปรึกษาสรรพากรสิครับ ชัวร์สุด

ซึ่งได้ความว่า เงินและกำไรที่ได้จากการจาก Token เช่น BTC ETH บลาๆๆ สำหรับบุคคลธรรมดา ไม่เข้าข่ายบังคับต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มครับ แม้ว่าเกิน 1.8 ล้านบาทก็ตาม แต่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ตามปกตินะครับ อย่า งง

ทีนี้ผมได้สอบถามต่อในมาตรา 77/1 ยาวเลยไปถึงเรื่องการ เขียน software ขาย หรือ การขายหนังหรือเพลง ผ่านทาง electronic ที่ดูเหมือนว่าจะไม่เข้าข่ายทั้ง (9) และ (10/1) แต่เรื่องนี้ ขอละเอาไว้ก่อน เดี๋ยวจะสับสนกันเปล่าๆ

คำถามจาก Community

ทั้งนี้ ผมถามใน Telegram group ที่เราใช้พูดคุยกัน ว่ามีประเด็นไหนที่สงสัยมั้ย จะได้ตอบและตีความได้ ก็มีดังนี้

? เงินได้ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากกิจการในประเทศไทย ดังนั้น ไม่ต้องเสียภาษีของประเทศไทย

ผมขออ้างอิงจาก https://inlps.com/2019/08/26/cryptocurrency-tax-thailand/ ซึ่งได้มีเนื้อหาย่อหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า

“นอกจากนั้นกฎหมายเพิ่มเติมของการเสียภาษีใต้พระราชกฤษฎีกาจะไม่เกิดผลหากธุรกรรมดิจิตอลในระบบบล็อกเชนและผลกำไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ และไม่สามารถนำมาใช้ได้ สรรพากรมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบภาษีว่า ขอบเขตภาษีของประเทศไทยจะไม่แยกกำไรของ Cryptocurrency จากการเก็บภาษีในประเทศ และหากการแลกเปลี่ยนกำไรนั้นล่าช้าไปยังปีงบประมาณปีหน้า อีกทั้งระบบบล็อกเชนนั้นไม่ถือว่ามาจากต่างประเทศ ด้วยระบบบล็อกเชนนั้นมีอยู่ทั่วที่ประเทศไทย

แปลว่า เกิดรายได้จากฟาร์มใดๆ ยังไงก็ต้องเสียภาษีครับ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 41 ด้วย

? การถอนเงินหลังปีใหม่จะไม่เสียภาษีใช่มั้ย

เสียครับ ขายเมื่อไร ก็ถือว่าเป็นกำไร ณ ตอนที่เราขาย ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แต่เราต้องไม่ งง ว่า กำไรเมื่อไร จ่ายตอนไหน กล่าวคือ ซื้อปี 2560 ขายปี 2563 ก็ไปยื่นเป็นกำไรตอนที่ยื่นรอบต้นปี 2564 ครับ เพราะตอนถือยังไม่ได้มีกำไรออกมา กำไรออกมาตอนขายนั่นแหล่ะ แต่ถ้าถือ แล้วมีกำไรงอกระหว่างทาง จะเข้า (ซ) ด้วย

? เอาเงินแม่มาบริหารด้วย ของตัวเองด้วย แต่ถอดออกมาบัญชีเดียวกัน เอามาแยกจ่ายภาษีเป็น 2 คนตามจริงได้ไหม

ไม่ได้ เพราะ exchange ไม่รู้จักคุณแม่ของคุณครับ ชื่อคุณคือคนซื้อ ขายทำกำไร ถ้าคุณยื่นครึ่งเดียว แล้วปรากฏตรวจสอบว่าไม่ตรงกับรายการของ exchange คุณน่าจะต้องถูกเรียกพบเพื่อชี้แจง ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่ามันเป็นธุรกรรม สองทอดครับ แม่ <> คุณ <> exchange ดังนั้น คุณก็ต้อง decalre เงินต้นทุน ที่มาจากส่วนแม่ของคุณ ซึ่งนั่นจะถือเป็นอีกหนึ่งรายได้ ที่แยกออกไปของตัวคุณเอง เพราะแม่ของคุณ ทำธุรกิจร่วมกับคุณ แต่แม่ของคุณไม่ได้ซื้อขาย Token เองโดยตรง

ดังนั้น แม่ของคุณยื่นเป็น มาตรา 40 (ฌ) ไม่ได้ แต่คุณต้องยื่นเต็มตามมาตรา 40 (ฌ) แล้วเรื่องระหว่างคุณกับแม่ก็เป็นเงินได้แบบอื่น ผมไม่ลงรายละเอียด ณ ตรงนี้นะครับ ให้เป็นหน้าที่ของคุณต่อ เพราะจะนอกเรื่องละ

? เราไป cash out ที่ประเทศอื่น ตามกฏหมายไทยเราต้องเสียภาษีไหม

เสียครับ ตามมาตรา 41 เต็มๆเลย ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

? ธนาคาร -> Bitkub -> ธนาคาร แบบนี้ถือว่าได้ออกนอกประเทศหรือยังครับ

ถ้าอ้างอิงข้อบนๆ ไม่มีขอบเขตบน Blockchain แล้วครับ นับรวมหมด

? ถ้าปีแรกกำไร 10 ล้าน ปีที่สองยังไม่ถอนเงินออก ลงทุนเพิ่ม ขาดทุน 5 ล้าน ปีที่สามถอนออกมาหมดเลย จ่ายแค่กำไร 5 ล้าน หักจากขาดทุน 5 ล้านได้ไหม

ผมคิดว่า เอาบัญชีมาชี้แจงครับ ว่ากำไรได้ยังไง ขาดทุนได้ยังไงกำไรเกิดในปีไหน มาจากต้นทุนก้อนไหน เท่าไร ยังไง และต้องสอดคล้องกับ Exchange และหลักฐานต่าง ถ้าไม่ได้จดบัญชี หรือไม่สอดคล้องกับ exchange หรือหลักฐานต่างๆ ก็ต้องว่ากันตามดุลพินิจของเจ้าพนักงานครับ เพราะไม่มีหลักฐานอ้างอิง

? ธนาคาร -> Bitkub -> Binance -> Bitkub -> ธนาคาร แบบนี้ถือว่าได้ออกนอกประเทศหรือยังครับ ถ้าเอา Binance เข้า Bitkub 1 ม.ค. จะเสียภาษีของปีที่ผ่านมามั้ย

ตามที่ยกมาข้างบน เสียครับ

? จากรูปข้างบนแบบนี้ถือว่าไม่เสียภาษีถ้าเอาเงินเข้าปีภาษีถัดไปได้หรือไม่

ถ้าอิงตามข้างบน Blockchain ไม่ได้ถือว่ามีขอบเขต ใน หรือ นอกประเทศ ดังนั้น ถือว่าเป็นคนละ case กันครับ ไม่สามารถอ้างอิงกันได้

? ถ้าเราเอายอดเงินบาททั้งหมดที่ in เข้า crypto exchange ของไทย หักลบกับ ยอดที่ cashout ออกมา ถ้ารวมแล้ว ตั้งแต่ 1,800,001 บาท ถึงต้องเสียภาษีใช่ไหมครับ

ถ้ามีกำไร เสียเป็นภาษีเงินได้ โดยแยกว่าเป็นเงินได้แบบไหน (ซ) หรือ (ฌ) แต่ไม่เข้าข่ายบังคับต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ครับ (อย่างที่บอก VAT กับ ภาษีเงินได้ คนละก้อนกัน)

? ตอนนี้ภาษี crypto 15% หรือเปล่าครับ

พระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร  (ฉบับที่๑๙) พ.ศ.  ๒๕๖๑ ระบุชัดเจน ส่วนนี้คิด 15% ครับ แต่ผมไม่คิดว่า สรรพากรจะคิด กำไรตรงนี้ 15% ก่อน เอาเงินได้หมวดอื่นไปคิดตามขั้นบันใดนะครับ ถ้าเป็นแบบนั้น น่าจะ งง ดังนั้น หมายความว่าเอาเงินได้ก้อนนี้ ไปนับเป็นเงินได้พึงประเมินก่อน แล้วค่อยเอาไปหักกับรายจ่าย แล้วนำไปคิดภาษีตามขั้นบันใด หรือ อาจจะเสีย มาก หรือ น้อยกว่า 15% อยู่ที่ฐานภาษีของแต่ละคนเองเลย

และจากการทดสอบคำนวณผ่าน application iTax ทำให้พบว่า เป็นแบบที่ผมตั้งสมุติฐานข้างบนไว้ครับ คือ เอามานับเป็นเงินได้พึงประเมินก่อนหักลดหย่อนต่างๆ แล้วเอาเข้าคิดตามฐานภาษีแบบขั้นบันใด ไม่ได้แยกมาคิดเฉาะเงินได้ประเภทนี้ออกมา 15% ต่างหากครับ

? เราจะนับเป็นเงินได้ตอนไหนครับ ตอนขายเป็น บาท ใน exchange หรือตอนโอนบาทจาก exchange เข้าธนาคาร

ตอนที่เกิดการ “รับ/ส่งมอบ” Token ดังนั้น คือจังหวะซื้อและขาย ไม่ใช่การเอาเงินเข้าออกแบบเงินบาทกับ exchange ครับ

? การนำทรัพย์สินดิจิตอลแลกกับทรัพย์สินอื่นโดยตรง จะนับเป็นเงินได้ยังไงหรือครับ

เมื่อมีการส่งมอบ Token และได้ตีมูลค่า ณ เวลา นั้น เท่าไร นั่นคือการตีเป็นมูลค่าการขาย Token เพื่อ ซื้อทรัพย์สินอื่นอีกที

? เราสามารถแลกทรัพย์สินดิจิตอลเป็นหุ้นตปท. ที่ธนาคารตปท. แล้วขายถือเงินสดข้ามปีภาษี ก่อนจะแลกกลับเป็นเงินดิจิตอลได้ไหมครับ

ผมไม่มีความรู้ด้านภาษีของการ trade และถือครองหุ้นที่ธนาคารต่างประเทศ ดังนั้น ผมไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ครับ แนะนำให้ปรึกษาสรรพากรโดยตรงครับ แต่มีความเห็นจากใน Telegram ว่า “ตอนผมขาย หุ้น ตปท. กรมสรรพากร นับเป้นบาท ครับ โดยตอนโอน จะมีการันตีจากแบงค์ครับ”

** เนื้อหาทั้งหมดนี้ เกิดจากการตีความของผมเอง และจากที่สอบถามมาจากสรรพากรในเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอ้างอิงตามหลักฐาน พรก หรือตามประมวลรัษฎากร ส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีเรื่องที่ไม่ clear ผมแนะนำให้ปรึกษาสรรพากรโดยตรงจะดีที่สุดครับ