ความเสี่ยงของ DeFi ที่ต้องบอกว่า หุ้นน่ะเหรอ เป็นเด็กน้อยไปเลย

ผมลงทุนใน DeFi (DEFI= “De”centralize “Fi”nancial) มาครึ่งปีกว่าแล้ว แต่ว่าอยู่ในตลาดการลงทุน Cryptocurrency รวมทั้ง ศึกษาการทำงานของ Blockchain Technology , Use case และ อะไรต่างๆที่เกี่ยวข้อง มาตั้งแต่ปี 2018 อีกทั้งลงทุนในหุ้น กองทุน forex มานานเป็น 10 ปีแล้ว จนทำให้เห็นภาพ และเข้าใจในเรื่องต่างๆได้ ก็เลยจะมาอธิบาย เพื่อให้เข้าใจว่า การลงทุนใน DeFi มันไม่ได้มีแต่ความหอมหวานอย่างเดียวนะ แต่ความเสี่ยงมันก็สูงมากเช่นกัน ถ้าเราลงทุนกับมันไปพักใหญ่ๆ เราจะรู้เลยว่า หุ้น ที่เค้าว่าเป็นการลงทุนความเสี่ยงสูง เราจะมองว่ามันเป็นการลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำไปเลยล่ะ

Platform บิน

อีกชื่อ เรียกว่า rug pull ดึงพรม นั่นแหล่ะ เอาให้ลื่นล้มกันทั้งวงไปเลย อาการคือ เมื่อได้เงินฝากไว้ใน platform ที่พอใจจะฮุบแล้ว ก็สั่งโอนออกไปทั้งหมดเฉยเลย แล้วก็เอาไปเข้ากระบวนการฟอกเงินต่างๆ จนไม่สามารถตามตัวได้อีก
ผลกระทบ : ถ้าเราเอาเงินออกไม่ทัน (ซึ่งส่วนใหญ่ ก็ไม่ทันแหล่ะ เพราะทุกอย่างเร็วมากไม่เกิน ครึ่งชั่วโมงก็หมดแล้ว) ก็คือ ทุกอย่างไปหมด อาจจะเหลือเอาไว้เพียง LP ให้ดูต่างหน้า ที่ทำอะไรไม่ได้ หรือเอาเงินออกก็ไม่ได้แล้ว ดังนั้น ถ้าเจอเมื่อไร เหลือ 0 บาททันที

หรืออีกแบบคือ เจ้าของ platform สร้างเหรียญ reward มาเพิ่มมหาศาล ขายใส่ตลาด ทำให้ราคาลงไปเกือบเหลือ 0 ถ้าเราซื้อ governance token เอาไว้ (ที่เค้าแจกเป็น reward) ก็เรียกได้ว่าเจ๊งเลยในพริบตา
ผลกระทบ : ถ้าเราซื้อ governance token เอาไว้ ราคามันจะเป็น 0 เลย เพราะขายใส่ใคร ก็ไม่มีใครรับซื้อแล้ว แต่อาจจะยังเอาเงินออกได้อยู่ ขึ้นอยู่กับ ว่าเค้าทำอะไรยังไงไปบ้าง

exit scam

เป็นชื่อเรียกอาการที่เจ้าของ project ทิ้ง project หรือไม่ทำอย่างที่สัญญาเอาไว้ โดยได้เงินบางก้อนออกไปแล้ว ด้วยวิธีการบางอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงการขายเหรียญก่อนเปิด platform มากกว่า หรือถ้าเป็น platform วาง pool ต่างๆ ก็อาจจะคาบเกี่ยวการ rug pull ด้วย ก็คือ สร้าง reward token มา dump ใส่ตลาดทันทีเลย เพื่อเก็บเงินที่ได้ออกไป

ผลกระทบ : แล้วแต่ว่าเค้าทำอะไรยังไงบ้าง แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เค้าตั้งใจจะทำ มันจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว project ตายแล้วแน่นอน ถ้าเราซื้อ reward token ไว้ มันจะวิ่งเข้าหา 0 ด้วยความรวดเร็ว ถ้าเค้าไม่ทำอย่างอื่นเพิ่มเติม เราอาจจะยังพอเอาเงินออกได้อยู่

โดน hack

คือไม่ว่าจะด้วย เขียนโค้ดไม่รัดกุม หรือตั้งใจวาง bug เพื่อจะ rug pull เองก็ตาม หลายๆครั้ง จะมีอาการ rug pull หรือ exit scam ผสมกัน หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เจ้าของไม่ได้เป็นคนทำ เหตุนี้จะเกิดด้วยความที่ source code เปิดเผย และใครๆก็อ่าน และ interact กับ smart contract ตัวนั้นได้ ดังนั้นถ้าเขียนไม่รัดกุมมากพอ ก็จะโดนคนมาช่วยเจาะ เอาเงินออกไป อันนี้ มีหลากหลายรูปแบบมากเลย ขึ้นอยู่กับว่า bug ที่เจอจะเป็นหน้าตาแบบไหน เช่นว่า ล่าสุด ที่ icecream โดนสั่งเปลี่ยน Owner เป็นใครก็ได้ hacker ก็จัดให้เป็นตัวเอง แล้ว mint เหรียญ (สร้าง) มาขายใส่กระจุย แล้วก็ขนเงินออกไปเรียบร้อย ทิ้งเอาไว้แต่ reward token ที่ราคาเป็น 0 กรณีนี้ platform ก็ไปต่อไม่ได้ เพราะเสียชื่อเสียง แล้วไหนจะตัว reward ที่ไม่มีราคา ดังนั้น พังในเวลาไม่กี่วัน หรือว่า อีกเรื่อง ที่เคยเจอ จำได้ว่า สมการการคำนวณ ไม่ได้ตรวจสอบตัวหารหนึ่งตัวในสมการ ทำให้ hacker ใช้ช่องว่าง เพื่อทำให้ค่าตัวหารเป็น 0 พอเป็น 0 ปั๊บ ผลลัพท์ก็ออกมาเป็น อนันต์ ทำให้สามารถ hack เอาเงินออกไปได้ แต่อันนี้ จำไม่ได้แล้วว่าตัวไหน และอื่นๆอีกมากมาย
ผลกระทบ : ก็คือ hacker จะได้เงินจากคนที่เอามาฝากเอาไว้ออกไป หรือทำให้ platform เกิดความเสียหายในรูปแบบต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง ก็แล้วแต่กรณี บางที่ก็ปิดไปเลย บางที่ ก็ยังให้บริการต่อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ช่วงที่โดน จะไม่สามารถเอาเงินที่เราฝากเอาไว้ออกมาได้ (เพราะ hacker ขนไปแล้ว)

โดน attack โดยใช้ความสามารถของ protocol เอง

อันนี้ ที่เราจะได้ยินบ่อยๆ คือพวก flash loan attack นั่นแหล่ะ อันนี้ต้องเล่าในเชิงลึกเล็กน้อย คือ flash loan แท้จริงแล้ว มันเป็น feature ที่ทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่มีข้อกำหนดว่า การกู้และคืน ต้องจบภายใน 1 transaction block เท่านั้น เพราะถ้าเรากู้ โดยไม่วางหลักประกัน เมื่อผ่านการทำงานของ smart contract ที่จะตรวจสอบในรายละเอียดแล้ว smart contract ก็จะ reject รายการเป็นอันว่าการกู้นั้นไม่สำเร็จนั่นเอง หรือว่า ถ้าเรากู้โดยวางหลักประกัน เมื่อจบ block นั้นเมื่อไร ธุรกรรมก็จะเกิดขึ้นในทันที ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่า ไม่มีทาง revert ได้อีกแล้ว ซึ่งย้ำอีกทีว่าเป็น feature โดยใช้บริการของ AAVE , dYdX ได้ในตอนนี้ แต่มีค่าบริการด้วย แม้ว่าจะเป็น flash loan ก็ตาม (0.09% ของยอดกู้)
เมื่อมีเครื่องมือ กู้ได้โดยไม่ต้องวางเงินค้ำแล้ว ก็เท่ากับว่า เรามีเงินฟรี ที่จะหยิบไปทำอะไรก็ได้ ดังนั้น ก็เอาเครื่องมือนี้แหล่ะ ไปหาประโยชน์ เช่น กู้มาล้านนึง แล้วแบ่งส่วนไปซื้อ A เอาไว้ แล้วก็เอาไป swap เป็นเหรียญ 2 ฝั่งเอาไว้ (สมมุติ A, B) แล้วใช้เงินซื้อ A หรือเพิ่มความโหดด้วยการกู้เพิ่มมาเท B ใส่เข้าไปอีก เพื่อให้ A ราคาขึ้นมาผิดจากความเป็นจริง จากนั้นก็ขาย A ทิ้งทั้งหมด (ซื้อไว้ตั้งแต่แรกแล้ว) อะไรทั้งหลายเหล่านี้ (หรือเทคนิคจะมาก และซับซ้อนกว่านี้) ซึ่งบางครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้มันสมดุลกลับมาเหมือนเดิม จนหลายครั้ง liquidity เกือบทั้งหมด หรือ ทั้งหมดที่วางเอาไว้ ก็หมดไปเลย ก็มี จนทำให้ระบบก็ทำงานต่อไม่ได้ เนื่องจาก คนฝากใหม่ก็ไม่กล้าฝาก ส่วนคนถอน ก็ถอนไม่ออก แม้ว่าจะเห็นว่ามีเงินตัวเองฝากอยู่เท่าไรก็ตาม โดยทั้งหมดเกิดขึ้นใน block เดียว ETH ก็ประมาณ 14 วินาที ส่วน BSC ก็ประมาณ 3 วินาที
ผลกระทบ : ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ platform จะเสียสมดุล จนทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะเอาเงินออกไม่ได้ด้วย ต้องดูว่าเจ้าของ platform จะแก้ไขอย่างไรต่อไป

มูลค่าราคาเหรียญที่เปลี่ยนแปลง

อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนมองข้ามไปเลย เพราะมัวแต่มอง APR , APY อย่างเดียว แล้วหนำซ้ำยิ่งหน้ามืดไปซื้อเหรียญที่เค้าแจกเป็น reward มาซ้ำอีก ยิ่งไปกันใหญ่ ยกตัวอย่าง ราคาเหรียญที่เค้าแจกเป็น reward ราคาตลาด $1 โดยถ้าเราซื้อแล้วเอามา stake เราก็จะได้ผลตอบแทน 1,000% ต่อปี เราก็คิดเอาง่ายๆ หาร 365 จะได้ 2.74% ต่อวัน เราก็ซื้อมาเลย 100 เหรียญ ผ่านไป 1 วัน ราคาเหรียญตก 3% หรือมูลค่าตกไป 1095% ต่อปี ในขณะที่เราได้ reward 1000% ต่อปี ดังนั้น เราติดลบไปแล้ว 95% ต่อปี เอ้า อยู่เฉยๆ ก็ขาดทุนได้ และแค่นั้นยังไม่พอ ในชีวิตจริง reward หลายๆที่คิดจากมูลค่าด้วย (เช่น pancakeswap) ดังนั้น จาก 100 เหลือ 97 เราจะได้ 1000% จาก 97 เท่านั้น ไม่ใช่จาก 100 เหมือนตอนแรก เหมือนโดนสองเด้งเลย
ผลกระทบ : ต้นทุนเราหายไปด้วยความรวดเร็ว และ reward ที่ได้ก็ลดด้วยความรวดเร็วด้วยเช่นกัน

อีกกรณีคือ Impermanent loss ซึ่งมีผลมาจากราคาที่เปลี่ยนแปลง อันนี้ อธิบายละเอียดเอาไว้แล้ว โดยมันจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน เมื่อเหรียญตัวใดตัวหนึ่งราคาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ผลกระทบ : ต้นทุนหาย หรือว่า กำไรเราลดลง แทนที่ราคาขึ้นจะได้กำไรเต็มๆ กลับโดน IL มาแบ่งส่วนกำไรออกไปตลอดทาง

กระเป๋าโดน hack

Wallet ที่เราใช้งานอยู่ ถ้าเป็นสิ่งที่เราติดตั้งเอง เช่น Metamask , Safepal หรือกระเป๋าที่เราต้องจด seed word เอาไว้ เหล่านี้ เราต้องเข้าใจว่า seed word กับ private key เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้ามีใครล่วงรู้ คนใครใน internet รู้ หรือ สักคน สักแห่ง บนโลกในนี้ที่ไม่ใช่เรารู้ ทุกอย่างจะหายไปหมดทันที ทุกอย่างจริงๆ เพราะเค้าสามารถโอนออกไปได้ทุกอย่างทั้งหมดเลย ดังนั้นเราต้อง เก็บรักษาเอาไว้อย่างดีที่สุด

ผลกระทบ : เหมือนโดนไฟไหม้บ้าน โดยที่เราเอาอะไรออกมาไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เหลือเอาไว้แต่เพียงที่ดินเปล่าๆเท่านั้น อันนี้ อาจจะแย่กว่าด้วย เหลือแต่กระเป๋าเปล่าๆ ไม่มีมูลค่าอะไร

ค่าธรรมเนียม

อันนี้ ใครอยู่ฝั่ง ETH ก็จะปวดใจมาก เพราะว่าค่าธรรมเนียมนั้นแสนแพง อย่างที่เขียนอยู่ตอนนี้ ทำธุรกรรมนึงใน smart contract ก็ประมาณ พันกว่าบาท แล้วการจะฟาร์มได้ ต้องมีอย่างน้อย 4 ธุรกรรม ก็คูณไปเลยจ้า ต้องคิดตรงนี้เผื่อด้วย ใครอยู่ BSC ก็ถูกหน่อย ประมาณ 15 – 120 บาท ต่อธุรกรรมขึ้นอยู่กับ smart contract ที่เราเคยเขียนอธิบายเอาไว้แล้วที่นี่

ผลกระทบ : เราเห็นว่า เราได้กำไรจาก reward แต่ถ้าจำนวนน้อยมาก และลืมคิดค่าธรรมเนียมในการเก็บ reward นั้นออกมา สุดท้ายเราจะขาดทุนค่าธรรมเนียม เพราะมันไม่คุ้มกำไรที่ได้มา และถ้าทำไปเรื่อยๆ port ก็จะติดลบเอาได้ง่ายๆ

ความไม่เข้าใจของการทำงานในแต่ละ platform

อันนี้ก็ทำพังมาเยอะแล้วเหมือนกัน ส่วนตัวก็เกือบเป็นเหยื่อด้วยแล้ว ต้องอธิบายเพิ่มอย่างนี้ คือ DeFi เนี่ย มันเป็นพื้นที่ ทับซ้อน ระหว่าง เทคโนโลยี + เศรษฐศาสตร์ + การเงิน ดังนั้น เราต้องเข้าใจมันให้ได้ ว่ามันมีกลไกการทำงานอย่างไร แยกราย platform หรือบางครั้งแต่แยกราย pool เลย อย่างเรื่อง stable coin ถ้าเราพูดแค่นี้ คนทั่วไป ก็เข้าใจว่า อ๋อ มีค่าเท่ากับ $1 หรือ สวิงแถวๆ $1 นั่นแหล่ะ ซึ่งมันก็จริง แล้วก็ไม่จริง ผมยกตัวอย่างนึง DITTO เป็นเหรียญ stable coin elastic supply ใน BSC network ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ $1 เสมอ โดยทำงานด้วยกลไกการปรับราคาแบบ rebase แต่ถ้าใครตามดูราคา จะเห็นว่า ราคา มันสวิงมากๆ ระหว่าง $0.44 – $2.8 ซึ่งก็อาจจะเบาใจว่า อ๋อ มันก็สวิงได้ไม่แปลก เดี๋ยวราคาก็เข้าสู่ 1 นั่นแหล่ะ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยก็คือ ทุกๆการ rebase (ปรับสมดุล) เหรียญที่อยู่ในมือเรา จำนวนจะเปลี่ยนไปด้วย!! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ market cap , price เคลื่อนที่อย่างมีนัยยะสำคัญ จะทำให้ขาดทุน หรือ กำไร แบบเป็นทวีคูณได้เลย ทั้งที่เป็น stable coin นี่แหล่ะ อันนี้ อธิบายแค่นี้พอ ถ้าลงลึก มันต้องแยกเป็นเรื่อง elastic supply token ไปอีกเรื่องต่างหากเลย
ดังนั้น ใครที่เข้า ditto แล้วก็หวังว่ามันจะเป็น stable coin เพื่อเอาไป pair กับ coin อื่นแล้ว farm ถ้าเข้าใจแค่นี้ แล้วเข้าออกผิดจังหวะ จากเดิมที่คิดว่า เรามีความเสี่ยงจากเหรียญฝั่งเดียว ก็จะกลายเป็นได้ความเสี่ยงจากเหรียญสองฝั่งมาแทนเลยอีกต่างหาก และเวลาขาดทุนเนี่ย value เราติดลบไปได้แบบ 80 90% เลยก็เป็นไปได้นะ (กำไรก็ด้วยเช่นกัน) ดังนั้น มันเป็น stable coin แบบโคตรจะไม่ stable เลย เราก็ต้องทำความเข้าใจมันให้ดี (แต่ผมชอบ concept เหรียญแบบนี้นะ มันทำให้เราอยู่ในโลกอุดมคติได้ดีเลย เช่น ข้าวของราคาแพงขึ้น แต่เงินในกระเป๋าเราก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้มีอำนาจในการใช้จ่ายเราเท่าเดิม โคตรจะอุดมคติ 5555 แต่พอมาผสมชีวิตจริง เลยพังๆหน่อย)

ผลกระทบ : ทุน หรือกำไร จะเพิ่มหรือลด โดยที่เราอธิบายสาเหตุไม่ได้ และถ้ามันไม่เป็นอย่างที่คิด หรือ ผิดทาง เราจะเข้าออก ผิดจังหวะ คือเข้าตอนแพง ออกตอนถูก ทำให้ขาดทุนได้มากๆ

ไม่บันทึกบัญชี

อันนี้เป็นเหมือนเรื่องพื้นๆที่หลายคนก็รู้ แต่ก็ไม่ทำ เหมือนกับเราใช้ชีวิตโดยไม่จดบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วพอสิ้นเดือน อ้าวเฮ้ย เงินหมดเฉยเลย เราก็ไม่ได้ใช้อะไรเยอะนี่นา แจกแจงจากความทรงจำก็ไม่ได้ใช้อะไรเยอะ ทำไมเงินหมดล่ะ นั่นสินะ ครับ แบบนี้ พาเจ๊งทั้งโลกจริงและโลก crypto เอาได้ง่ายๆเลย ถ้าได้ตามอ่านหลายบทความหน้าเว็บ ผมจะแสดงการจดบันทึก ทุกๆวันเอาไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น excel หรือจดบันทึกเพื่อดูความเคลื่อนไหวก็ตาม อันนี้เคยอธิบายเอาไว้แล้วที่นี่

ผลกระทบ : เราจะไม่รู้ว่า เราขาดทุน หรือ กำไรจากอะไร โดยเฉพาะการไปลงทุนหลายๆที่พร้อมๆกัน ถ้าเราดูตัวเลขรวมสุดท้ายบรรทัดเดียว เราจะไม่รู้ว่าที่ไหนมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง แต่มันจะแดงออกมา ตอนที่หลายๆที่มีปัญหาพร้อมกัน ซึ่งเราก็แก้ไขสถานการณ์อะไรไม่ทันแล้วนั่นเอง

โอนผิด

โคตรจะ common เลย แต่ classic และมันจะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน อย่าง จะโอนจากกระเป๋านึง ไปอีก กระเป๋านึงของเราเอง แต่ไปใส่เลข smart contract ซะงั้น (ผมเคยเจอระบบ copy wallet address ไม่ทำงาน ทำให้มันจำ smart contact ที่เคย copy เอาไว้ ใน clipboard) สั่งโอนไปเรียบร้อย เอาคืนไม่ได้อีกเลย มันก็ติดอยู่ใน smart contract ตัวนั้นตลอดไปนั่นแหล่ะ ดีว่าตอนนั้นมันก็แค่ reward เท่านั้น มูลค่าประมาณ พันบาท ถ้าจำไม่ผิด เก็บไว้เป็นบทเรียน ตรวจทานให้ดี
อีก case ก็โอนผิด network นี่ก็บ่อยเหมือนกัน แต่ว่าส่วนใหญ่จะเอาคืนได้ ขึ้นอยู่กับปลายทางเป็นแบบไหนยังไง
ผลกระทบ : มีทั้งแบบเอาคืนได้และเอาคืนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกรณีที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ถ้าเอาคืนได้ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย

scam

อันนี้ ก็เป็นการหลอกลวงแบบทั่วไป เช่น ติดต่อมา ทำเหมือนเป็นคนให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำอะไรบางอย่าง แล้วสุดท้าย ก็หลอกเอาเงิน หรือ seed word , private key ของเราไป อะไรแบบนี้ครับ หรือที่ classic เจอบ่อยมากๆ คือมีกิจกรรมพิเศษ ที่ยิ่งใหญ่รับจำนวนจำกัด ใครโอนมาก่อนได้ก่อน โอนให้เรา 1 เราจะโอนคืนให้ 2 เป็นต้น อ่านดูตรงนี้ อาจจะฟังดูตลก ใครจะโง่ไปโอน แต่ถ้าเจอของจริงจะเข้าใจ ว่าเค้าทำทุกอย่าง สร้างเว็บ คำพูด รีวิว ทุกอย่างได้เหมือนจริงมากๆ ผมไม่เคยโอน แต่เคยเข้าไปศึกษาอยู่ และถ้าเราทำตัวเป็นกลาง เรายังเกือบจะหลงคารมได้เลย

ผลกระทบ : ขึ้นอยู่กับรูปแบบการหลอกลวง เช่น ได้ seed word ,private key ไปแบบนี้ก็หมด ถ้าหลงโอนไป เพราะเค้าจะโอนกลับมาให้เราเพิ่ม ก็เสียเท่าที่โอนไป อะไรแบบนี้

ponzi scam แชร์ลูกโซ่

อันนี้เป็นคนละเรื่องกันกับ DeFi แต่ชอบเอา Cryptocurrency , DeFi มาบังหน้า หลอกให้โอนเพื่อลงทุนแล้วจะได้เท่านั้นเท่านี้ ในเวลาเท่านั้นเท่านี้ แบบเรทที่เยอะๆแปลกๆ พวกนี้ถ้าที่ไหนมีการันตีเมื่อไร ให้รู้ไว้เลย โดนแน่นอน

ผลกระทบ : เงินที่โอนไปก็จะไม่ได้คืนมาอีกเลย หรือ ได้เศษคืนมาช่วงแรก เพื่อให้ตายใจ แต่สุดท้ายขาดทุนมากๆแน่นอน

และ(เกือบ)ทั้งหมด “เรียกร้องอะไร จากใคร ไม่ได้”

เนื่องจากการลงทุนของ DeFi นั้น ไม่ได้ถูกควบคุมโดยใคร ประเทศไหน หรือหน่วยงานอะไร ทุกอย่าง เกิดขึ้นอย่างอิสระเสรี และไม่มีประเทศใดที่เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ดังนั้น เมื่อไม่มีความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง มันจึงเป็นอิสระที่ไม่มีกรอบหรือข้อกำหนดอะไรใดๆ ยกเว้น โค้ด smart contract ที่เขึยนขึ้นมาและบันทึกอยู่ใน blockchain เท่านั้น และนั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เป็นกรอบ หรือ ข้อกำหนดในการลงทุนของเราทั้งหมด การกระทำอะไรที่ทำลงไป ไม่สามารถย้อนคืนได้อีกต่อไป

ผมพูดคำเดิมนะ high knowledge + high risk = high return เพราะว่ายังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้แล้วไม่พร้อมที่จะเข้าใจ ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องแปลกอะไร แต่อีกคนจำนวนมาก ที่เข้าใจ และทำเงินจากมันอยู่ พร้อมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยงไปได้โดยพร้อมๆกัน ทุกคนต่างมีอิสระในการเลือก ดังนั้น โลกการเงินที่เปลี่ยนไปนี้ มอบอำนาจพร้อมกับความเสี่ยงกลับมาให้เราเป็นผู้เลือกเอง เรามีหน้าที่ปรับตัว เรียนรู้ และหากำไร รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงไปในเวลาเดียวเท่าที่เราจะทำได้